มนต์ขลังเมืองปราสาทหิน ถ้าพลาด…แสดงว่ามาไม่ถึงบุรีรัมย์

มนต์ขลังเมืองปราสาทหิน ถ้าพลาด…แสดงว่ามาไม่ถึงบุรีรัมย์

 

“เมืองปราสาทหิน ถิ่นภูเขาไฟ ผ้าไหมสวย รวยวัฒนธรรม” คือคำขวัญจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งว่ากันว่า ถ้าไม่ได้มาปราสาทพนมรุ้ง ก็เหมือนมาไม่ถึงบุรีรัมย์ เพราะที่นี่ถือว่าเป็นแลนด์มาร์คสำคัญของจังหวัดบุรีรัมย์เลยล่ะ

ห่างจากกรุงเทพฯ ราวสามร้อยกิโลเมตร วิ่งตรงบนถนนโชคชัย-เดชอุดม จะเห็นป้ายบอกทางไปปราสาทเขาพนมรุ้งเต็มไปหมด ปราสาทแห่งนี้ตั้งอยู่บนยอดเขาพนมรุ้ง ซึ่งเป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว ในตำบลตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นโบราณสถานศิลปะลพบุรีที่มีความงดงาม และมีความสำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย

หากมองผ่านๆ ตัวปราสาทพอจะเดาได้ว่า ต้องเป็นศิลปะฮินดูผสมกับขอมแน่นอน สร้างขึ้นเพื่อถวายแด่องค์พระศิวะ เทพเจ้าสูงสุดในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย ที่นี่จึงเปรียบเสมือนเขาไกรลาศอันเป็นที่ประทับของพระศิวะ และยังเป็นสัญลักษณ์ของศูนย์กลางจักรวาลอีกด้วย โดยสร้างขึ้นหลายยุคสมัย ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15-18 (นานมาก)

หลังจากจอดรถ ค่อยๆ เดินทอดน่องมาเรื่อยๆ ผ่านบันไดต้นทาง จะเห็นพลับพลาทางขวามือ มีลักษณะเป็นห้องแคบยาวต่อเนื่อง สันนิษฐานว่าเป็นพลับพลาเปลื้องเครื่องสำหรับกษัตริย์หรือเจ้านายชั้นสูง เพื่อทำความบริสุทธิ์ให้แก่ตน ก่อนจะเข้าสู่ภายในปราสาทประธานที่อยู่บนเขา

หลังจากนั้น จะเห็นเสาคล้ายดอกบัวตูม 70 ต้นตั้งเรียงรายสองข้างทางที่ปูด้วยหินศิลาแลง เรียกว่า “เสานางเรียง” สันนิษฐานว่า เป็นหญิงสาวที่มายืนโปรยดอกไม้ต้อนรับกษัตริย์ในสมัยนั้น

บริเวณสะพานนาคราช 5 เศียรที่หันหน้าไปทั้ง 4 ทิศ คือจุดเชื่อมทางเดินและบันไดขึ้นปราสาท ตรงกลางจะเห็นลายเส้นรูปดอกบัวแปดกลีบ หมายถึงทิศทั้งแปดของจักรวาล และเทพประจำทิศทั้งแปดในศาสนาฮินดู ทุกอย่างที่สร้างขึ้นล้วนแต่มีความหมายจริงๆ

ก่อนจะเข้าไปในตัวปราสาท จะเห็นสะพานนาคราชชั้นที่ 2 รวมถึงระเบียงคดที่โอบล้อมตัวปราสาททั้งสี่ด้าน ผนังด้านนอกมีหน้าต่างหลอก ส่วนขวามือจะเป็นสระน้ำ ที่เดิมเป็นปากปล่องภูเขาไฟ

ไฮไลต์ที่ต้องเจอคือ “ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์” ประดับอยู่ด้านบรรณของปรางค์ประธาน ซึ่งเคยถูกโจรกรรมนำไปขายให้กับสถาบันศิลปะแห่งชิคาโก หลังจากใช้เวลาเจรจา ทำเรื่องร้องขอให้ส่งกลับมาไทยอยู่นานราว 20 ปี ปี พ.ศ. 2531 ไทยจึงได้รับชิ้นส่วนทับหลังคืนกลับมา เนื่องจากทางชิคาโกทนแรงกดดันจากหลายๆ ฝ่ายไม่ไหว เรียกว่าเป็นมหากาพย์ก็ไม่ผิด ด้านในจะเป็น “ศิวลึงค์” เชื่อว่าเป็นรูปเคารพที่สำคัญที่สุด เนื่องจากเป็นตัวแทนพระศิวะ

นอกจากนั้น ยังมีส่วนต่างๆ ในปราสาท ไม่ว่าจะเป็น ปราสาทอิฐสองหลังที่พังทลายลงมาแล้ว ปรางค์น้อย บรรณาลัย เนื้อที่บนปราสาทดูไม่ใหญ่เท่าไรนัก แนะนำเตรียมน้ำไว้ดื่ม รวมถึงร่มกันแดดได้จะดีมาก เพราะอากาศวันที่ผู้เขียนเดินทางไป ไม่ค่อยเป็นมิตรสักเท่าไรนัก

ไฮไลต์อีกอย่าง ช่วงวันที่ 3-5 เมษายน และ 8-10 กันยายน ของทุกปี ดวงอาทิตย์ขึ้น ส่องแสงลอดประตูทั้ง 15 บาน ชาวบ้านจะเดินเท้าขึ้นมาเพื่อชมความอลังการที่ผสานระหว่างธรรมชาติและสิ่งก่อสร้างของบรรพชน นอกจากนี้ในวันที่ 6-8 มีนาคม และ 6-8 ตุลาคม ของทุกปี ดวงอาทิตย์ก็ตก ส่องแสงลอดประตูทั้ง 15 บาน เช่นกัน ซึ่งบรรดานักท่องเที่ยวต่างให้ความสนใจพอควร

ศูนย์ข้อมูลการเรียนรู้

นอกจากตัวปราสาทเองแล้ว ทางอุทยานยังมีศูนย์บริการข้อมูลแก่นักท่องเที่ยวที่รวมวัตถุโบราณมากมายพบจากบริเวณใกล้เคียงมารวมไว้อีกด้วยไม่ว่าจะเป็นศิลาจารึก รูปปั้นต่างๆ ฯลฯ เรียกว่าพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมก็ไม่ผิด ที่สำคัญนักท่องเที่ยวที่ซื้อบัตรผ่านแล้ว สามารถเข้าชมฟรีอีกด้วย

หากใครอยากได้ของติดไม้ติดมือกลับบ้าน บริเวณลานจอดรถยังมีร้านค้าขายของเบ็ดเตล็ดเรียงรายเป็นแถว

ถึงคราที่ผู้เขียนต้องเซย์กู๊ดบาย หลังจากเดินเที่ยวท่ามกลางแสงแดดที่สาดส่องมายังผิวกายอย่างไม่ปราณี แต่ขอฝากไว้ หากมาเที่ยวบุรีรัมย์ ก็อย่าลืมแวะมาเยี่ยมชมความอลังการกันสักครั้ง เพราะที่นี่ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ และเป็นสถานที่สำคัญของชาวบุรีรัมย์ จะว่าของคนไทยก็ไม่ผิด ทั้งนี้เพื่อให้การเที่ยวเมืองไทยดังไปไกลทั่วโลก

ChicMinistry

สนับสนุนเนื้อหา