เที่ยวชมพิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ภูเก็ต ศึกษาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากแร่

“ไข่มุกแห่งอันดามัน”ที่นักท่องเที่ยวถวิลหา แต่ก่อนที่จะมีวันนี้ ภูเก็ตได้ผ่านยุคสมัยแห่งความรุ่งโรจน์ของการเหมืองแร่มายาวนาน ดังที่ปรากฏในเอกสาร พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ ว่า

ยุคเหมืองแร่หนึ่งในยุคทองของภูเก็ต(ในภาพคือหุ่นจำลองการทำเหมืองหาบ)
ภูเก็ตเป็นเมืองที่เติบโตมาจากการทำเหมืองแร่ดีบุก ซึ่งต้องใช้ดีบุกเคลือบโลหะกันสนิม และผสมทองแดงเป็นสำริดมากว่า 500 ปี จึงทำให้ชาวยุโรป(โปรตุเกส ฮอลันดา ฝรั่งเศสและอังกฤษ) และชาวจีนฮกเกี้ยน(ทั้งที่ผ่านมาจากสิงคโปร์และปีนังหรือมาจากจีนโดยตรง)หลั่งไหลเข้ามาทำเหมืองและตั้งหลักแหล่งในภูเก็ต มีวัฒนธรรมผสมผสานไทย ยุโรปและจีน ทำให้มีอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น อาทิ สถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีส อาหารพื้นเมือง ภาษา การบูชาเทพเจ้า การแต่งกาย การแต่งงาน รวมไปถึงน้ำทะเลใสสีคราม หาดทรายสะอาดและแดดเมืองร้อน จนกลายเป็นมนต์เสน่ห์ ไข่มุกแห่งอันดามันเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงก้องโลก

อาคารพิพิธภัณฑ์เหมืองแร่(ชิโน-โปตุกีส)


นับได้ว่ายุคเหมืองแร่เป็นอีกหนึ่งยุคทองของภูเก็ตที่ก่อให้เกิดการพัฒนาเมืองในหลากหลายมิติ ทั้งด้าน เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม

มาวันนี้แม้ภูเก็ตจะเปลี่ยนผ่านจากยุคเหมืองแร่เข้าสู่เมืองท่องเที่ยว แต่ประวัติศาสตร์แห่งความเป็นเมืองเหมืองยังไม่ตายและยังอยู่ในความทรงจำของใครหลายๆคน เป็นประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าให้อนุชนคนรุ่นหลังได้เรียนรู้ศึกษาในรากเหง้าของตัวเอง

ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้เห็นความสำคัญ โดยนายประเสริฐ ขาวกิจไพศาล อดีตนายกเทศมนตรีเมืองกะทู้ในสมัยที่ดำรงตำแหน่ง ได้เสนอให้มีการจัดตั้ง“พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่”ขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 จนหลังเหตุการณ์สึนามิ ทางจังหวัดภูเก็ตได้มอบหมายให้เทศบาลตำบลกะทู้ ดำเนินการจัดสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ ในปี พ.ศ. 2549 บนพื้นที่เหมืองแร่ดีบุกเดิม (เลิกทำเหมืองเมื่อ พ.ศ. 2500) บริเวณเหมืองท่อสูง ต.กะทู้ อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต

ผศ.สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์
อาคารพิพิธภัณฑ์เหมืองแร่สร้างตามแบบของนางปัญจภัทร(ตูน) ชูราช โดยมี ผศ.สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์ เป็นผู้ออกแบบวางแนวคิดการจัดแสดงให้พิพิธภัณฑ์ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์มีชีวิต ที่สามารถเรียนรู้ สัมผัส จับต้อง และร่วมลงมือปฏิบัติการด้วยตัวเองได้ในบางจุด ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จไปประมาณ 80 %

อาคารหลังนี้สร้างในสไตล์ชิโน-โปรตุกีส ซึ่ง ผศ.สมหมาย ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมของภูเก็ตและเป็นผู้นำชมพิพิธภัณฑ์ในครั้งนี้ กล่าวว่า คนภูเก็ตเรียกอาคารลักษณะนี้ว่า “อังมอเหลา” ที่หมายถึง บ้านเรือนแบบฝรั่งของบรรดาเศรษฐีหรือนายเหมืองในอดีต

รถสองแถวไม้ในห้องโปท้องหง่อก่ากี่
สำหรับการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ จัดแสดงในแนวคิด“เปิดลับแลม่านฟ้า เกาะพญามังกรทอง” โดย แบ่งส่วนจัดแสดงหลักออกเป็นภายนอกและภายใน

ภายนอก มีพันธุ์ไม้พื้นเมืองหลายชนิดให้ชม อาทิ ราชินีเหลือง หม้อข้าวหม้อแกงลิง เฟินสามร้อยยอด ผักหวาน และยังหลงเหลือร่องรอยของการทำเหมืองเก่าไว้ให้ชมบ้าง ซึ่งในอนาคตจะทำเป็นเหมืองแร่จำลอง มีเรือ ขุด รางแร่ ฯลฯ มาจัดแสดงให้ชม

ภายใน แบ่งเป็นส่วนต่างๆ มีส่วนจัดแสดงที่สำคัญๆคือ

โปท้องหง่อก่ากี่ แสดงภาพ(วาด)ลักษณะเด่นของอาคารชิโน-โปรตุกีส เช่น หัวเสากรีก-โรมัน ลวดลายประตู หน้าต่าง มีรถสองแถวสร้างด้วยไม้หรือ “โปท้อง” ตั้งไว้โดดเด่นกลางห้อง โดย ผศ.สมหมาย ให้ข้อมูลว่า ภูเก็ตเป็นหัวเมืองที่มีรถยนต์เป็นอันดับแรกของเมืองไทย และเป็นเมืองที่มีรถยนต์เป็นอันดับ 2 ของประเทศไทยรองจากกรุงเทพฯ

สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนมาจากแร่
ชินวิถี มีประตูทางเข้า หน้าต่างและช่องลม เป็นเสมือนปาก ตาและคิ้วพญามังกร เมื่อเดินเข้าไป
เป็นส่วนรับแขกของคนจีนผู้มีอันจะกิน ตกแต่งอย่างหรูหรา มีโต๊ะมุกเป็นที่นั่งรับน้ำชาจากเจ้าของบ้าน มีฉากลวดลายต้นและดอกโบตั๋นอันสวยงามประดับ

อัญมณีนายหัวเหมือง จัดแสดงวัตถุโบราณของสะสมสิ่งละอันพันละน้อย อาทิ แสตมป์ดวงแรกของไทย เงินโบราณ จากเงิน(หอย)เบี้ย เงินพดด้วง เงินปึก มาถึงเหรียญ ธนบัตร ซากฟอสซิล หินโบราณ งาช้างตราประทับ”มณฑลภูเก็จ” ซึ่ง ผศ.สมหมาย บอกว่านี่คือ 1 ใน หลักฐานสำคัญที่บ่งชี้ว่าในอดีตชื่อของภูเก็ตน่าจะใช้“ภูเก็จ”ที่หมายถึง ภูเขาแก้ว นอกจากนี้ยังมีวัตถุ สิ่งของ ข้าวของสะสมของนายหัวเหมืองอีกมากมาย ที่ล้วนต่างมามีต้นกำเนิดมาจากห้องถัดไป

นักท่องเที่ยว(เสื้อลาย)ร่วมทำการร่อนแร่(จริงๆ)ในพิพิธภัณฑ์
เรืองดารากร ส่วนนี้จัดแสดงกำเนิดระบบสุริยะจักรวาล กำเนิดโลก โยงมาถึงการกำเนิดของมนุษย์ การเกิดหิน เกิดแร่ วิวัฒนาการของมนุษย์ในยุคโบราณพร้อมหุ่นจำลองมนุษย์ยุคโบราณ ที่เริ่มรู้จักนำหิน นำแร่ อย่างเหล็ก สำริด มาใช้ในชีวิต ก่อนจะรู้จักการขุดค้นแร่และการทำเหมืองแร่ที่ปรากฏในห้องต่อไป

สายแร่แห่งชีวิต คือห้องสำคัญ จัดแสดงการทำเหมืองแร่ในรูปแบบต่างๆ ประกอบด้วย เหมืองแล่น เหมืองรู(เหมืองปล่อง) เหมืองหาบ เหมืองฉีด เหมืองสูบ เหมืองเรือขุดแล้ว โดยพื้นที่ให้อาสาสมัครลงไปทดลองร่อนแร่ของจริงชนิดเปียกจริงได้ผงแร่ออกมาจริงๆให้จับต้องกัน จัดแสดงกระบวนการในการผลิตแร่ตั้งแต่ยุคแรกที่ใช้แรงงานคน มาจนถึงยุคการใช้เครื่องจักร โดยมี “ลูกเชอ” เป็นภาชนะตักแร่ที่สำคัญ

นักท่องเที่ยวยืนชมหุ่นจำลองวิถีการทำเหมือง

และด้วยการเข้ามาของการทำเหมือง อันเป็นยุครุ่งเรืองเฟื่องฟูของการทำเหมืองในภูเก็ตนี่เอง ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตวัฒนธรรมของชาวภูเก็ตครั้งสำคัญ โดยเมื่อราว 150 ปีที่แล้ว แรงงานเหมืองซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีนฮกเกี้ยนได้อพยพมาเป็นกุลีในเหมืองหาบแล้วแต่งงานกับคนไทย คนท้องถิ่น ให้กำเนิดลูกหลานมีการผสมผสานทางวัฒนธรรม เกิดเป็นวิถีวัฒนธรรมอันมีลักษณะเฉพาะตัวที่น่าสนใจขึ้นมากหลายในภูเก็ต ดังปรากฏในส่วนแสดงถัดๆไป

เรือกอจ๊าน
สำหรับส่วนจัดแสดงเกี่ยวกับวัฒนธรรมภูเก็ตมีเรื่องราวน่าสนใจชวนชม อาทิ เรือกอจ๊านที่ใช้ในสมัยก่อน เรื่องราวการหลงผิดไปเสพฝิ่นของแรงงานสมัยก่อน บรรยากาศร้านรวง ศาลเจ้า ย่านพบปะของภูเก็ตในอดีต โรงงิ้ว โรงหนังตะลุง ร้านโกปี๊ วัฒนธรรมการแต่งงานแบบบาบ๋าเป็นต้น

และนั่นก็เป็นส่วนใหญ่ของการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ อีกหนึ่งแหล่งรวมเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญ ดุจดังแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตที่มีองค์ความรู้อันหลากหลายให้ค้นหา ซึ่งไม่เฉพาะแค่ชาวภูเก็ตเท่านั่นแต่ยังเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญของชาวไทยอีกด้ว

พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ภูเก็ตเปิดให้บริการทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการและนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น.

สถานที่ตั้ง
พิพิธภัณฑ์ เหมืองแร่ภูเก็ต ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ หมู่ 5 ถนนสายกะทู้-นาเกาะ ตำบลกะทู้ อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต ติดกับสนามกอล์ฟล๊อกปาล์มกะทู้

การจัดแสดงนิทรรศการ
พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ มีการแสดงนิทรรศการแบบมีชีวิต (Life Museum) โดยแบ่งการแสดงไว้เป็น 2 ส่วน คือ ภายนอกอาคาร (Outdoor) ประกอบด้วย เหมืองแล่น เหมืองรู เหมืองหาบ เหมืองฉีด เหมืองเรือขุด ส่วยภายในอาคาร (Indoor) จัดแสดงนิทรรศการ ประวัติความเป็นมาของการทำเหมืองแร่ดีบุก และวิถีชีวิตของชาวเหมือง

อัตราค่าเข้าชม
คนไทย ผู้ใหญ่ 50 บาท เด็ก 20 บาท
ต่างชาติ ผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 50 บาท

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ภูเก็ต โทร 088- 766-0962

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก :  http://www.tinyzone.tv/TravelAdm.aspx