ผู้ว่าฯททท. เปิดยุทธศาสตร์แผนการตลาดท่องเที่ยวปี 2560 พร้อมชวนเที่ยวท้องถิ่นไทย

ผู้ว่าฯททท.ยุทธศักดิ์ เปิดยุทธศาสตร์แผนการตลาดท่องเที่ยวปี 2560 เจาะตรงกลุ่มเป้าหมายศักยภาพสูง ในประเทศ ต่างประเทศเน้นกลุ่มคุณภาพ ท้าทายด้วยตัวเลขโต 10% พร้อมชวนเที่ยวแบบลึกซึ้งกับประสบการณ์ท้องถิ่นไทย

 

IMG_8764

ผู้ว่าฯททท. เปิดยุทธศาสตร์แผนการตลาดท่องเที่ยวปี 2560 พร้อมชวนเที่ยวท้องถิ่นไทย

11 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา นายยุทธศักดิ์  สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) แถลงทิศทางการส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยวของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ประจำปี 2560 ณ ห้องแพลนนารี ฮอลล์ 2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมด้วยคณะกรรมการ ททท. บุคคลในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว สื่อมวลชน ผู้บริหารและพนักงาน ททท. เข้ารับฟัง

ซึ่งทิศทางการส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยวของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ประจำปี 2560 นี้  ได้เกิดจากการนำผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา วิเคราะห์ร่วมกับพฤติกรรม รายได้ แนวโน้มในการเดินทางท่องเที่ยวของกลุ่มเป้าหมายในตลาดต่างๆ และนโยบายของรัฐบาล  ระดมความคิดเห็น ผ่านการประชุมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำข้อเสนอแนะเข้าสู่ที่ประชุมแผนปฏิบัติการ ททท. เมื่อวันที่ 4 -7 กรกฎาคม 2559 ณ โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดขอนแก่น

IMG_8772

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า ทิศทางการส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยวของ ททท. ในปี 2560 มีปัจจัยที่ท้าทายหลายประการ ทั้งปัจจัยทางเศรษฐกิจโลกและปัจจัยทางธรรมชาติ ซึ่งล้วนแต่มีผลกระทบกับการท่องเที่ยวทั้งสิ้น  รวมถึงนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 (Thailand 4.0) ที่รัฐบาลผลักดันให้สร้างความเข้มแข็งจากภายใน ซึ่งการท่องเที่ยวถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถทำให้บรรลุเป้าประสงค์ของรัฐบาลได้  และเป็นสิ่งที่ท้าทาย

ททท. จึงได้กำหนดเป้าหมายในปี 2560 คือ ตลาดในประเทศ ปรับแผนตลาดกระตุ้นคนไทยให้เดินทางมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10  คิดประมาณการเป็น 950,000 ล้านบาท   ส่วนตลาดต่างประเทศ  เน้นการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายต่อการเดินทางแต่ละครั้ง มุ่งสู่กลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ โดยตั้งเป้าสร้างรายได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 10  เช่นกัน คิดประมาณการรายได้เป็น 1.89 ล้านล้านบาท  ส่งผลให้รายได้ภาพรวมของการท่องเที่ยวในปี 2560 เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 หรือประมาณ 2.84ล้านล้านบาท

IMG_8729

ทิศทางการทำการตลาดในภาพรวมของปี 2560 ททท. ยังคงนำเสนอจุดแข็งของประเทศคือ  “วิถีไทย” อันเป็นจุดเด่นที่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ อีกทั้ง ยังเป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสความเป็นไทยแท้ ดั้งเดิม โดยต่อยอดนำเสนอสินค้าการท่องเที่ยวที่ผูกโยงกับวิถีไทยแต่ลงลึกมากขึ้น  เพื่อนำรายได้และความเข้มแข็งสู่เศรษฐกิจฐานราก ทำให้คนท้องถิ่นเกิดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยว นำไปสู่ความยั่งยืนของเศรษฐกิจ สังคมและการท่องเที่ยวในอนาคต

ทั้งนี้ ททท.ได้มีแนวทางในการนำเสนอ “วิถีไทย” ผ่านการสร้างประสบการณ์ที่ประทับใจจากท้องถิ่นไทย (Local Experience) ซึ่งมีหลายระดับขึ้นอยู่กับความชื่นชอบ ที่แตกต่างของนักท่องเที่ยว โดยกำหนดกรอบประสบการณ์ที่ไม่จำกัดเพียงการท่องเที่ยวชุมชน ( CBT : Community Based Tourism)เท่านั้น แต่หมายรวมถึงทุกพื้นที่ ทุกจังหวัด ทุกองค์ประกอบ ที่สร้างประสบการณ์ให้กับการท่องเที่ยว  ซึ่งแม้แต่กรุงเทพมหานคร ก็สามารถค้นหาประสบการณ์ท้องถิ่นได้เช่นกัน

IMG_8723

ด้านการส่งเสริมตลาดในประเทศ ททท. ชูเป้าหมายใหญ่ คือ การมุ่งสู่ความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศและสร้างความยั่งยืนทางการท่องเที่ยวให้ประเทศไทย กำหนดกลุ่มเป้าหมายเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มเจนเนอร์เรชั่น วาย (Generation Y : Gen Y)  กลุ่มผู้หญิง  (Women) และกลุ่มผู้สูงวัย (Silver Age) ดำเนินโครงการ “ประกาศศักดา ท้าเที่ยวข้ามภาค” ให้เกิดการเดินทางแลกเปลี่ยนพื้นที่ท่องเที่ยวและกระจายนักท่องเที่ยวไปทุกภูมิภาค ผ่านแคมเปญและกิจกรรมต่างๆ  รวมทั้งกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในวันธรรมดา ด้วยแนวคิด “เที่ยวได้งาน” เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศการทำงาน ช่วยสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ อาทิ การเดินทางศึกษาดูงาน การประชุมนอกสถานที่ทำงาน เป็นต้น พร้อมต่อยอดโครงการ “12 เมือง ต้องห้าม … พลาดPlus” ให้เกิดการท่องเที่ยวเชื่อมโยงและกระจายไปยังเมืองรอง

สำหรับการเจาะตลาดกลุ่มศักยภาพสูงเพื่อเพิ่มการใช้จ่ายนั้น  ททท. มุ่งเจาะกลุ่มผู้สูงวัย และกลุ่มผู้หญิง ที่มีรายได้ต่อเดือน 45,000 บาทขึ้นไป   กลุ่มผู้สูงวัยใช้แคมเปญ “เก๋ายกก๋วนชวนเที่ยว นำเสนอรูปแบบการทำกิจกรรมร่วมกับกลุ่มเพื่อน  สร้างประสบการณ์ท่องเที่ยวใหม่ๆ หรือทบทวนความสนุกสนานที่เคยผ่านมา ด้วยการนำเสนอแพ็คเกจ อาทิ   แพ็คเกจเก๋าเล่าว่า  แพ็คเกจเก๋ากินแหลก เก๋าชวนตี (การแข่งขันกอล์ฟ) และ เก๋า Market (งานแสดงของสะสม กิจกรรมเปิดแผ่นเสียง กิจกรรมเต้นรำ) เป็นต้น  ส่วนกลุ่มผู้หญิง นำเสนอแคมเปญพิเศษสตรีอย่าหยุดเที่ยว” นำเสนอสินค้าการท่องเที่ยวให้เป็นเสมือน “รางวัลแห่งชีวิต” รวมถึงแพ็คเกจเฉพาะสำหรับกลุ่มผู้หญิง อาทิ Lady Bike , Lady Run เป็นต้น ส่วนกลุ่มเจนเนอร์เรชั่น วายนั้น  ถือเป็นนักท่องเที่ยวพลังใหม่ ที่จะช่วยสร้างกระแสการท่องเที่ยวผ่านพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดีย (Social Media) ที่สามารถนำเสนอรูปแบบการท่องเที่ยวในแบบของตัวเองไปสู่วงกว้างได้เป็นอย่างดี

IMG_8798

ด้านการส่งเสริมตลาดต่างประเทศ  ททท. มีความมุ่งมั่นให้ประเทศไทย เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยว สร้างรายได้อย่างยั่งยืน โดยเน้นการเติบโตของรายได้มากกว่าจำนวนนักท่องเที่ยว อีกทั้งให้เกิดการกระจายรายได้ กระจายนักท่องเที่ยวไปสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง  จึงร่วมกับผู้ประกอบการ กำหนดทิศทางการทำการตลาดแบบเจาะกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจน

ได้แก่  การเจาะกลุ่มตลาดใหม่   อาทิ กลุ่มมุสลิม   กลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่  พร้อมทั้งเจาะตลาดใหม่ในเชิงพื้นที่ที่มีศักยภาพในการจ่ายสูง เช่น   กลุ่มประเทศ BRIC  อาร์เจนติน่า ยุโรปตะวันออก เป็นต้น การขยายฐานตลาดที่มีศักยภาพในการใช้จ่าย โดยขยายฐานตลาดกลุ่มรายได้ต่อคนตั้งแต่ 20,000 เหรียญสหรัฐ/คน/ปี ขึ้นไป นำเสนอสินค้า luxury และ creative tourism เป็นจุดดึงดูดให้เกิดการใช้จ่าย การรักษาฐานตลาดเดิมที่มีศักยภาพในการใช้จ่าย อาทิ กลุ่มผู้หญิง   กลุ่มครอบครัว  และกลุ่ม Baby Boomer และการให้ความสำคัญการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับประเทศในกลุ่มอาเซียน ดึงตลาดยุโรปและอเมริกาให้เข้ามาท่องเที่ยวไทยแบบเชื่อมโยงในเส้นทาง ASEAN Connectivity และการเดินทางท่องเที่ยวกันเองในกลุ่ม CLMV

นายยุทธศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการสื่อสารทางการตลาด ทั้งตลาดในและต่างประเทศนั้น อยู่บนพื้นฐานการนำเสนอประสบการณ์ที่เป็นเอกลักษณ์ไทยเฉพาะถิ่น (The Unique Thai Local Experiences)     แก่นักท่องเที่ยว  ตลาดในประเทศใช้แคมเปญ ท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋สไตล์ลึกซึ้ง โน้มน้าวให้นักท่องเที่ยวไทยได้เปิดมุมมองใหม่ต่อการท่องเที่ยววิถีท้องถิ่น เห็นถึงคุณค่าและมีส่วนร่วมกับประสบการณ์อันเป็นเอกลักษณ์แต่ละท้องถิ่นของไทย และส่งต่อประสบการณ์  ความรู้ ความประทับใจที่ได้แก่คนรอบข้าง  ด้านตลาดต่างประเทศ ยังคงใช้  Amazing Thailand ภายใต้แนวทางการสื่อสาร “Discover Amazing Stories in Amazing Thailand”  เพื่อนำประสบการณ์จากการท่องเที่ยวอันเป็นอัตลักษณ์เฉพาะของไทย ไปสู่สายตาคนทั่วโลก

ทั้งนี้ ททท. ยังคงบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว พร้อมส่งต่อความรู้ขององค์กรสู่ผู้ที่สนใจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ได้แก่  ศูนย์ TAT Academy จะจัดการจัดอบรมให้กับผู้ประกอบการและมัคคุเทศก์ เพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับการท่องเที่ยวในท้องถิ่น รวมถึงความรู้ด้านการตลาดสมัยใหม่ให้สามารถใช้เทคโนโลยีเป็นสื่อกลางนำข้อมูลไปสู่นักท่องเที่ยว  นอกจากนี้ ทางศูนย์ TAT Intelligence Centre จะบริการข้อมูลเชิงการตลาดให้กับ ผู้ประกอบธุรกิจได้นำมาวางแผนการดำเนินกิจการได้

อาทิ ฐานข้อมูลด้านสถิติ การวิเคราะห์สถานท่องเที่ยว งานวิจัยและบทความด้านการท่องเที่ยว ผ่านเว็บไซต์ www.tourismthailand.org/tatic  อีกทั้ง ททท. ได้จับมือกับพันธมิตร คือ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ATTA และ THA  ริเริ่มให้มีการแถลงทิศทางสถานการณ์ตลาด    เป็นประจำทุกรายไตรมาส และจะดำเนินการต่อเนื่องต่อไปในปีหน้า เพื่อให้ผู้ประกอบการและประชาชนได้ทราบถึงผลการดำเนินงานของ ททท. และแนวโน้นของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างเป็นปัจจุบัน