ปั่นจักรยานตะลุยเยี่ยมชมเส้นทางประวัติศาสตร์ “ณ กรุงเก่าอยุธยา”

เริ่มต้นปั่นกันที่ศูนย์บริการข้อมูลท่องเที่ยว ททท. ไปตามถนนศรีสรรเพชญ์ ถึงจุดหมายแรกชมวิถีชีวิตคนกรุงเก่าในอดีตที่คุ้มขุนแผน จากนั้นแวะขอพรที่พระมงคลบพิตร พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองอยุธยาที่ “วิหารพระมงคลบพิตร” ถัดมาไม่ห่างกันนัก ชมวัด “พระศรีสรรเพชญ์” วัดที่สำคัญที่สุดของราชธานีกรุงศรีอยุธยา ถัดเข้าไปด้านใน เป็นพระราชวังโบราณราชธานีศรีอยุธยา สถานที่ที่เคยใช้เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญต่างๆในสมัยกรุงศรีอยุธยา ศึกษาประวัติความเป็นมาของพระราชวังที่เคยยิ่งใหญ่และงดงามมากว่า 417 ปี ก่อนจะถูกทำลายเหลือเพียงซากอิฐ จากนั้นมุ่งสู่ทิศตะวันออกไปยัง “บึงพระราม” บริเวณที่สมเด็จพระเจ้าอู่ทองทรงเลือกใช้เป็นพื้นที่เพื่อสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นราชธานี ปั่นจักรยานสบายๆ ผ่าน “พระที่นั่งเย็น” ที่พระมหากษัตริย์เสด็จฯ ประทับทอดพระเนตรการละเล่นทางน้ำของชาวอโยธยา จากนั้นปั่นต่อมาที่วัดมหาตุ วัดอารามหลวง สร้างสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ก่อนออกจากวัดอย่าลืมค้นหาเศียรพระที่รากโพธิ์ สถานที่สำคัญที่ยูเนสโกเลือกให้เป็น “หนึ่งในที่สุดมรดกโลก”

06

ถัดมาฝั่งตรงข้ามกันนั้น คือ “วัดราชบูรณะ” แหล่งรวบรวมเครื่องทองของพระมหากษัตริย์ที่ยังหลงเหลือหลังจากเสียกรุงครั้งที่ 2 ซึ่งยังมีอีกส่วนถูกจัดเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา มุ่งหน้าขึ้นทางเหนือสู่ “วัดธรรมิกราช” สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อกันว่าถ้าอธิษฐานตั้งจิตแล้วจะสมหวังดังหมาย เข้าสู่ยามสายใกล้เพล เดินทางสู่ “วัดหน้าพระเมรุราชิการาม” แวะพักเติมพลังด้วยเครื่องดื่มหวานๆ เย็นๆ แล้วเดินชมความงดงามของสถาปัตยกรรมกรุงศรีอยุธยาชิ้นสุดท้ายที่คงความสมบูรณ์ที่สุด สิ้นเสียงพระตีกลองเพล ก็ได้เวลาขึ้นหลังอาน ปั่นเลียบคลองสระบัว ไปชมแหล่งชุมชนช่างปั้นดินเผา แหล่งผลิต “ตุ่มนางเลิ้ง” โอ่งดินเผาสีแดง ไม่เคลือบ ทักทายชาวบ้าน ชักภาพเป็นที่ระลึกเรียบร้อย เดินทางต่อไปที่วัดเชิงท่า ตั้งอยู่ริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำลพบุรี เป็นที่ศึกษาเล่าเรียนในวัยเยาว์ของสมเด็จพระตากสินมหาราช จากนั้น ช่วงเที่ยงพอดีถึง “วัดโลกยสุธา” หรือ “วัดพระนอน” มีลักษณะเด่นตรงพระพุทธรูปปางไสยาสน์สร้างด้วยอิฐสอปูนยาว 42 เมตร จากนั้น ปั่นลงไปทางใต้ หาที่ทานมื้อเที่ยง ที่มีให้เลือกมากมาย หรือจะแวะซื้อของที่ระลึกก็ได้ได้ตามอัธยาศัย จากนั้นก็ปั่นไปตามเส้นสู่จุดเริ่มต้นที่ศูนย์บริการข้อมูลท่องเที่ยว ททท. เป็นอันสิ้นสุดทริปอย่างสมบูรณ์

05

ขอความร่วมมือ
“กรุณาสำรวมกิริยามารยาทในขณะที่เข้าชมสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะวัดและวัง อย่าลืมนำจักรยานที่เช่าไปคืน”

แนะนำ
“บรรยากาศการเดินทางไปโดยรถไฟจะให้ความรู้สึกผ่อนคลาย ไม่เร่งรีบ และเป็นการประหยัดพลังงานและลดการก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์กับโลกใบนี้อีกด้วย”

ข้อมูลท่องเที่ยว
จากกรุงเทพฯ สามารถขึ้นรถไฟที่สถานีหัวลำโพงไปลงที่สถานีอยุธยา ตรงข้ามสถานีจะมีร้านเช่าจักรยานอยู่ หากขับรถไปเอง ก็หาร้านเช่าจักรยานได้ไม่ยากในตัวเมือง
ตำแหน่ง GPS
N14° 20.992’, E100° 33.58’
ติดต่อททท. สำนักงานพระนครศรีอยุธยา
โทร.035 246 076-7
สิ่งอำนวยความสะดวก  ที่พัก ห้องน้ำ ร้านอาหาร และที่จอดรถ

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก : http://adventure.tourismthailand.org/