รับมือกับ 12 จุดเสี่ยงในการ ดูแลบ้านรับหน้าฝน

เข้าหน้าฝนอย่างเป็นทางการแล้ว ปีนี้กรมอุตุนิยมวิทยายังพยากรณ์ว่าจะมีฝนตกให้ชุ่มฉ่ำกันนานหน่อย ส่วนจะแม่นหรือไม่แม่นก็ยังไม่สำคัญเท่ากับเราได้เตรียมตัวและเตรียมบ้านให้พร้อมรับหน้าฝนกันแต่เนิ่นๆ เราจึงมีเทคนิคดูแลบ้านในช่วงหน้าฝนมาฝาก รับรองว่าคุณสาวๆ ก็ทำได้แน่นอน

รางน้ำฝน

ลมร้อนที่ผ่านมาอาจพัดพาใบไม้และสิ่งสกปรกลงในรางน้ำบนหลังคา ควรรีบทำความสะอาดซะ แต่เนิ่นๆ ก่อนที่ฝนตกหนักจะทำให้น้ำล้นหรือน้ำไหลย้อนกลับแล้วรั่วซึมเข้าสู่ภายในบ้านจนส่งผลเสียหายต่อตัวบ้านได้

หลังคา

ตามปกติควรตรวจดูหลังคาสัก 2 ครั้งต่อปี ดูรอยแตก รอยต่อ และสันของหลังคาที่อาจมีรอยโหว่ทำให้น้ำรั่วซึมได้ ส่วนเวลาฝนตกก็หมั่นสำรวจดูว่า มีรอยหยดน้ำบนฝ้าเพดานรึเปล่า นั่นแสดงว่าหลังคามีรอยรั่วแล้วล่ะ ทางที่ดีควรรีบแก้ไขก่อนที่มันจะขยายตัวและกลายเป็นปัญหาบานปลายให้ต้องจ่ายค่าซ่อมใหญ่ในภายหลัง

ผนังปูนและเพดาน

หากมีรอยแตกร้าวควรซ่อมให้เรียบร้อยโดยใช้วัสดุอัดกันรั่ว ฉีดอัดเข้าไปตามรอยเพื่อป้องกันการรั่วซึม ซึ่งจะทำให้เกิดความชื้นภายในบ้าน และอาจส่งผลเสียต่อโครงสร้างบ้านในอนาคต

 

 

ต้นไม้รอบบ้าน

โดยเฉพาะต้นไม้ใหญ่ที่สูงเหนือหลังคาบ้าน ควรริดกิ่งก้านที่ดูไม่แข็งแรงออก เพราะอาจหักหล่นเมื่อโดนลมพายุ ก่อให้เกิดอันตรายทั้งต่อคนในบ้าน ตัวบ้าน และรถรา รวมถึงต้นไหนที่ลู่ลมโอนเอนง่ายก็ควรทำไม้ค้ำยันให้ดีๆ

พื้นที่รอบบ้าน

เช่น ลานจอดรถ ทางเดินภายนอกตัวบ้าน หากมีพื้นผิวลื่นเมื่อโดนน้ำก็เสี่ยงต่อการลื่นล้ม และถ้ามีตะไคร่เกาะก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น จึงควรล้างขัดให้สะอาด พร้อมกับเพิ่มความระมัดระวังในการเดิน หากมีลานนั่งเล่นเป็นพื้นไม้กระดาน อย่าลืมใช้ผลิตภัณฑ์ยูรีเทนเคลือบเพื่อรักษาเนื้อไม้ด้วยล่ะ

ท่อระบายน้ำ

หมั่นทำความสะอาด เอาเศษใบไม้ เศษดินโคลนออกจากบ่อตักขยะในบ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้ท่อระบายน้ำอุดตัน อันที่จริงหากสามารถลอกท่อไว้ก่อนฤดูฝนก็จะดีมาก

 

 

กันสาดหรือชายคา

ทั้งประตู หน้าต่าง หรือผนังบ้าน ตรวจดูว่าจุดไหนที่ฝนสาดเข้ามาได้ ควรต่อเติมกันสาด หรือชายคาเพื่อกันฝน ป้องกันการผุพัง คราบเชื้อรา หรือตะไคร่น้ำจับบริเวณดังกล่าว หากต่อเติมกันสาดไว้แล้วก็ตรวจดูรอยต่อว่ามีช่องโหว่หรือจุดที่เป็นเป็นสนิมมั้ย ถ้ามีต้องซ่อมก่อนจะกลายเป็นรูรั่วใหญ่

ประตูและหน้าต่าง

ความชื้นทำให้ไม้ขยายตัว จึงควรเช็กให้แน่ใจว่ายังปิดได้สนิทดีอยู่หรือไม่ เวลาปิดประตูหน้าต่างแล้วมีเสียงดังกวนใจหรือเปล่า หากมีก็ควรรีบซ่อมแซม

คว่ำภาชนะขังน้ำฝน

สำรวจดูสิว่ามีภาชนะอะไรบ้างที่อยู่รอบๆ และสามารถเป็นแหล่งน้ำขัง ที่อาจกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ควรคว่ำภาชนะที่ไม่ได้ใช้เอาไว้ก่อน จะได้ปลอดภัยจากไข้เลือดออก

 

 

เฟอร์นิเจอร์สนาม

ถึงจะถูกออกแบบมาเพื่อตากแดดตากฝน แต่หากโดนฝนบ่อยๆ ขึ้นคงไม่เหมาะที่จะใช้งาน ทางที่ดีควรหาที่จัดเก็บหลบฝนเพื่อยืดอายุการใช้งาน และป้องกันการผุกร่อนก่อนเวลาอันควร ถ้าย้ายไม่ได้จริงๆ ใช้ผ้าใบกันน้ำคลุมไว้ก็ยังดี

ช่องทางเข้า

ป้องกันช่องทางเข้าบ้านต่างๆ ที่อาจเป็นจุดล่อแหลมให้สัตว์เลื้อยคลานมีพิษอย่างงู ตะขาบ หรือแมงป่องเข้ามาสู่ตัวบ้านได้ รวมถึงกำจัดแมลงอย่างมดและปลวกที่จะชุกชุมในหน้าฝน

อุปกรณ์ไฟฟ้า

จุดที่เสี่ยงต่อการเปียกฝน เช่น ไฟส่องสว่างด้านนอกของตัวบ้าน กริ่งไฟฟ้าหน้าประตูบ้าน ฯลฯ มีปัญหาไฟรั่วและไฟช็อตรึเปล่า รวมถึงปลั๊กและสวิตช์ไฟตามจุดต่างๆ ภายในบ้านที่อยู่ใกล้กับประตูและหน้าต่าง ซึ่งมีโอกาสถูกน้ำฝนได้ ลองย้ายปลั๊กหรือเปลี่ยนเป็นแบบมีฝาเปิด-ปิดได้เพื่อความปลอดภัย

 

 

Don’t Miss : อุปกรณ์สำรองที่ควรเตรียมไว้เนิ่นๆ

ถุงทรายกั้นน้ำ หากบ้านของคุณอยู่ในจุดที่น้ำท่วมง่ายเป็นประจำ จะเตรียมการเอาไว้ก่อนก็ไม่เสียหลาย

ไฟฉาย เตรียมเอาไว้ให้พร้อมหากเกิดไฟดับ และควรวางไว้ในจุดที่หยิบใช้งานได้ทันที

แบตเตอรี่สำรองไฟ ช่วยป้องกันไฟกระชาก ทำให้เครื่องไฟฟ้าบางอย่างเสียหาย โดยเฉพาะถ้าอยู่ในย่านที่ไฟดับบ่อย การมีแบตเตอรี่สำรองไฟจะช่วยให้อุ่นใจ ใช้งานได้ทันทีหากไฟดับ

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพประกอบจาก:http lisaguru.com/