ตามรอยคู่กรรม โกโบลิ – อังศุมาริน “อนุสรณ์สถานมิตรภาพไทย-ญี่ปุ่น”

เมื่อพูดถึงสงครามมหาเอเชียบูรพา หรือสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เกิดขึ้นในแถบภูมิภาคเอเชีย หลายคนคงจะนึกเชื่อมโยงไปถึงฉากรักระหว่างรบของโกโบริและอังศุมาลิน และฉากทหารสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดสถานีรถไฟบางกอกน้อยในกรุงเทพฯ บ้างนึกไปถึงเหตุการณ์ยกพลขึ้นบกของทหารญี่ปุ่นและความหาญกล้าของยุวชนทหาร ณ กองบินน้อยที่ 5 ที่ประจวบคีรีขันธ์ หรือบางคนอาจนึกไปถึงทางรถไฟสายมรณะที่เมืองกาญจน์ ซึ่งใช้แรงงานเชลยศึกตัดเจาะภูเขาหินอันแข็งแกร่งจนเป็นที่มาของชื่อช่องเขาขาด

แต่หลายคนอาจไม่ทราบว่า ในอำเภออันห่างไกลอย่าง อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ก็มีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับสงครามมหาเอเชียบูรพาด้วยเช่นกัน ที่สำคัญคือความเกี่ยวข้องนี้ไม่ใช่ในแง่มุมอันโหดร้ายในสงคราม แต่เป็นแง่งามแห่งความผูกพันและมิตรภาพระหว่างสองชนชาติที่ประสบชะตาร่วมกัน จนกลายความผูกพันแน่นแฟ้นอันยาวนานสืบเนื่องมาจนวันนี้
บรรยากาศภายในอนุสรณ์สถาน

02

“อนุสรณ์สถานมิตรภาพไทย-ญี่ปุ่น” ในอำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นสถานที่ที่บอกเล่าเรื่องราวดังกล่าวได้ดีที่สุด เพราะเป็นที่เก็บรวบรวมประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งของสงครามมหาเอเชียบูรพาที่เกิดขึ้นในแถบอำเภอขุนยวม อนุสรณ์สถานฯ แห่งนี้เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์มาตั้งแต่ปี 2539 และเมื่อเร็วๆ นี้เพิ่งปรับปรุงใหม่ทั้งสถานที่ เนื้อหา และภาพถ่ายที่อัดแน่นไปด้วยความน่าสนใจ เพื่อความเข้าใจในเนื้อหาภายในอนุสรณ์สถานโดยสรุป ขอให้เข้าไปชมวีดิทัศน์ความยาวประมาณ 10 นาที ที่สรุปเรื่องราวความเป็นมาของสงครามมหาเอเชียบูรพาที่แผ่ขยายมาสู่ประเทศไทยในวันที่ 8 ธ.ค. 2484 เมื่อกองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกตลอดแนวอ่าวไทยตั้งแต่ภาคใต้ขึ้นมาจนถึงบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงบุกมาทางอรัญประเทศ เพื่อจะรุกต่อไปถึงมลายู พม่า และอินเดีย

03
ป้ายผ้าไหมญี่ปุ่นเขียนด้วยลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโต้

รัฐบาลไทยต้องยินยอมให้ทหารญี่ปุ่นเดินทัพผ่านและตั้งกองกำลังในไทยเพื่อรักษาประเทศ และต้องทำกติกาสัญญาทางทหารระหว่างไทยกับญี่ปุ่น เพื่อช่วยเหลือญี่ปุ่นซึ่งจะเดินทัพเข้าพม่าและอินเดีย โดยกองทัพญี่ปุ่นได้เลือกสร้างถนนในเส้นทางเชียงใหม่-ตองอู ซึ่งจะต้องสร้างเส้นทางแยกจากบ้านแม่มาลัย เขต อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ผ่าน อ.ปาย อ.เมืองแม่ฮ่องสอน อ.ขุนยวม มุ่งหน้าออกไปบ้านต่อแพ ห้วยปลามุง และห้วยต้นนุ่น เข้าสู่พม่าบริเวณบ้านต่อเขตบนดอยน้ำพอง เพื่อบรรจบเส้นทางลอยก่อ-ตองอู โดยสร้างตามเส้นทางเดินของชาวบ้านเป็นหลักและได้จ้างแรงงานชาวบ้านจากแม่ฮ่องสอนและจังหวัดใกล้เคียงมาขุดปรับถนน ปัจจุบันเส้นทางดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงหมายเลข 108 และหมายเลข 1095 ด้วย

 

04
ภายในจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ของทหารญี่ปุ่นในสงคราม

และเส้นทางสายนี้เองก็เป็นเส้นทางถอยทัพเมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม ทหารญี่ปุ่นจำนวนนับแสนได้ทะลักเข้ามาในเขต อ.ขุนยวม มีทหารที่บาดเจ็บและล้มตายเป็นจำนวนมาก แต่ชาวขุนยวมก็พยายามให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ในฐานะเพื่อนมนุษย์ ทำให้เกิดเรื่องราวความผูกพันระหว่างคนขุนยวมและทหารญี่ปุ่น ที่ได้พึ่งพาอาศัยช่วยเหลือกันและกัน ดังที่เราจะได้เข้าไปชมอย่างละเอียดภายในอนุสรณ์สถานฯ ต่อไป

ภายในอนุสรณ์สถานฯ แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ ด้วยกัน ส่วนแรกจัดแสดงข้อมูลพื้นฐานของ อ.ขุนยวม ที่สำเนียงท้องถิ่นออกเสียงเป็น “กุ๋นยม” กุ๋น หมายถึงภูเขาที่เป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำ ส่วน ยม หมายถึงไม้ยมซึ่งขึ้นอยู่ตามภูเขาแถบนี้มาก และขุนยวมยังเป็นอำเภอที่มีความหลากหลายของชาติพันธุ์ โดยมีชาวไทใหญ่เป็นประชากรจำนวนมากที่สุด นอกนั้นก็ยังมีชาวปกาเกอะญอ ไทยวน ม้ง และ ลัวะ

05

กระติกน้ำสลักชื่อ “อูเมดะซัง”

เมื่อเดินขึ้นมายังชั้น 2 ส่วนนี้จัดแสดงเรื่องราวของขุนยวมในสมัยสงคราม ที่ชาวขุนยวมมีโอกาสต้อนรับกองทัพทหารญี่ปุ่นจำนวนนับหมื่นอย่างไม่คาดคิด จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งบรรยากาศและสภาพสังคมอย่างฉับพลัน ทหารเหล่านั้นต้องพึ่งพาชาวขุนยวมในเรื่องเสบียงอาหารและสินค้าต่างๆ คนขุนยวมทุกเพศทุกวัยจึงค้าขายกับทหารญี่ปุ่นและรับจ้างทำงานต่างๆ เป็นจุดเริ่มต้นของตำนานแห่งมิตรภาพและน้ำใจระหว่างกัน

ข้อมูลจัดแสดงยังบอกถึงจำนวนทหารญี่ปุ่นที่เข้ามารบในพม่า และถอนทัพจากพม่าเข้ามาไทย อนุมานว่ามีประมาณ 270,000 นาย และกองทหารญี่ปุ่นที่เข้ามาตั้งทัพในขุนยวมนั้น ได้กระจายกันอยู่ตามที่ต่างๆ โดยมีวัดม่วยต่อและวัดหัวเวียง (ปัจจุบันรวมเป็นวัดเดียวกัน) เป็นที่ตั้งของกองบัญชาการกองพลที่ 56 และโรงพยาบาลใหญ่ของค่าย ส่วนวัดขุ่ม เป็นกองบัญชาการอีกแห่งหนึ่งและเป็นที่ตั้งกองทหารสื่อสาร และวัดต่อแพ เป็นที่ตั้งของกองกำลังทหารญี่ปุ่นที่เคลื่อนพลมาจากพม่า วิหารเล็กหน้าเจดีย์ของวัดต่อแพเป็นสถานที่พิมพ์ธนบัตร

06
มิตรภาพของชาวขุนยวมและทหารญี่ปุ่นคือหัวใจหลักของอนุสรณ์สถาน

ตรงส่วนนี้มีของชิ้นสำคัญที่ไม่ควรพลาดชมคือ ป้ายผ้าไหมญี่ปุ่น ขนาดกว้าง 50 ซ.ม. ยาว 2 ม. บนผืนผ้าเขียนเป็นภาษาญี่ปุ่นด้วยลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโต้ กล่าวถึงเหตุผลที่ญี่ปุ่นต้องเข้าร่วมสงคราม และทรงพระราชทานให้แก่กองทัพญี่ปุ่น กล่าวกันว่ามีเพียง 5 ผืนเท่านั้น นอกจากนั้นยังมีแท่นบูชา และดาบซามูไรจัดแสดงไว้ด้วยกัน

ถัดมาเป็นส่วนจัดแสดงเครื่องแต่งกาย ทั้งเสื้อผ้าและหมวกเหล็ก และเครื่องใช้ส่วนตัวของทหารญี่ปุ่นที่เก็บรวบรวมไว้ได้ มีทั้งเครื่องรางแบบญี่ปุ่นที่ใช้ห้อยติดตัว กล้องถ่ายภาพ อุปกรณ์เครื่องเขียน แปรงสีฟันยี่ห้อชิเซโด้ เป็นต้น อีกทั้งยังมีอาวุธ ทั้งปืนสั้น ปืนยาว และหีบบรรจุยุทธภัณฑ์และลังกระสุนจำนวนมาก
อาวุธที่ใช้ในสงคราม

ข้าวของเหล่านี้เป็นของสะสมของ พ.ต.ท.เชิดชาย ชมธวัช ที่เคยมาปฏิบัติหน้าที่เป็นรองผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอขุนยวม และเป็นของที่ชาวขุนยวมร่วมบริจาคให้อนุสรณ์สถานฯ อีกทั้งทหารผ่านศึกญี่ปุ่นที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในขุนยวมเมื่อได้เดินทางกลับมาเยี่ยมก็ได้มอบสิ่งของอีกหลายชิ้นให้ทางอนุสรณ์สถานฯ ด้วยเช่นกัน

07

ดูข้าวของเครื่องใช้กันไปแล้ว มาดูเรื่องของมิตรภาพที่เป็นหัวใจหลักของอนุสรณ์สถานแห่งนี้กันบ้าง กล่าวกันว่า พลโท อาเคโตะ นากามูระ แม่ทัพภาคที่ 18 ไม่ต้องการให้คนไทยเกลียดชังทหารญี่ปุ่น จึงมีนโยบายห้ามทหารญี่ปุ่นมีเรื่องกับคนไทย กำชับให้มีการปรับตัวและช่วยเหลือชาวบ้านทำงานต่างๆ ทั้งตำข้าว เกี่ยวข้าว หาบฟืน เมื่อไม่มีเรื่องขัดแย้งบาดหมางกัน ช่วงที่ทหารญี่ปุ่นถอนทัพกลับจากพม่า ทหารจำนวนมากบาดเจ็บล้มตาย เสบียงอาหารและยาขาดแคลน ชาวขุนยวมจึงเต็มใจช่วยเหลือตามกำลัง แลกกับเงินทองและข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวเล็กๆ น้อยๆ
หมวกเหล็กของทหารญี่ปุ่น

นอกจากนั้น รักระหว่างรบในแบบฉบับโกโบริกับอังศุมาลินแห่งขุนยวมก็เกิดขึ้นที่นี่เช่นกัน ดังกรณีของแม่อุ๊ยแก้ว จันทสีมา สาวชาวขุนยวม กับสิบเอกฟูคูดะ ทหารญี่ปุ่นที่ติดต่อค้าขายกัน จนกลายเป็นความรักและได้แต่งงานกันในที่สุด กระทั่งสงครามสงบทหารญี่ปุ่นผู้นี้ก็ยังอยู่กินกับแม่อุ๊ยแก้วจนถูกส่งกลับประเทศ แต่เรื่องราวความรักระหว่างรบของคนทั้งคู่ก็ยังอยู่ในความทรงจำของคนขุนยวมเรื่อยมา แม่อุ๊ยแก้วได้เคยกล่าวไว้ว่า “สงครามโลกครั้งที่ 2 แม้ว่าดูเสมือนโหดร้าย แต่สำหรับคนไทยอย่างพวกฉัน สงครามคราวนี้เป็นความรัก ความผูกพัน ระหว่างทหารญี่ปุ่นกับคนไทย ที่ฉันไม่เคยลืมเลือน”
อาหารพื้นบ้านของชาวไทใหญ่ จัดแสดงอยู่ในชั้นล่าง

08

รู้เรื่องราวเกี่ยวกับสงครามกันไปแล้ว มาดูเรื่องราวประเพณี วัฒนธรรมและความเป็นอยู่ของชาวไทใหญ่ และสถานที่สำคัญต่างๆ ในอำเภอขุนยวมที่จัดแสดงอยู่ในส่วนที่ 3 ของอนุสรณ์สถานฯ ชาวไทใหญ่ยังคงยึดมั่นในพระพุทธศาสนา และยังคงรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนไว้ได้เป็นอย่างดี เห็นได้จากงานประเพณี หรือ “ปอย” ที่ยังจัดขึ้นเป็นประจำในเดือนต่างๆ นอกจากนั้นก็ยังมีความรู้เรื่องอาหารและที่อยู่อาศัยของชาวไทใหญ่จัดแสดงไว้ให้ชมกันอีกด้วย
ภาพจำลองตลาดสดขุนยวม แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวบ้าน

หากใครมีโอกาสผ่านมาที่อำเภอขุนยวมก็ไม่อยากให้พลาดชม “อนุสรณ์สถานมิตรภาพ ไทย-ญี่ปุ่น” ที่อาจทำให้เห็นแง่มุมดีๆ ในสงครามอันโหดร้าย มิตรภาพนั้นงอกงามได้ทุกแห่งไม่เว้นแม้แต่ในสมรภูมิรบ ดังเช่นในบทกลอนที่แต่งโดยโทโมโยชิ อิโนอุเอะ อดีตทหารผ่านศึกชาวญี่ปุ่นอายุกว่า 90 ปี ที่เคยมารบในพื้นที่ขุนยวม กลอนบทหนึ่งแปลออกมาได้อย่างจับใจว่า

“…40 ปีก่อน เสี้ยวหนึ่งของชีวิต หากแจ่มกระจ่างในความทรงจำ
ความกรุณาที่มีให้นั้น เกินขอบเขตกั้นของภาษา
ใครเล่าจะลืมความเมตตา จวบจนสิ้นชีวาวาย…”
“อนุสรณ์สถานมิตรภาพ ไทย-ญี่ปุ่น” ตั้งอยู่ตรงข้ามวัดม่วยต่อ ต.ขุนยวม อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่ 08.00-17.00 น. ปิดพักเที่ยง 12.00-13.00 น. ค่าเข้าชม คนไทย (ผู้ใหญ่) 20 บาท (เด็ก) 10 บาท ชาวต่างชาติ (ผู้ใหญ่) 50 บาท (เด็ก) 20 บาท สอบถามโทร. 0 5369 1466

เมื่อพูดถึงสงครามมหาเอเชียบูรพา หรือสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เกิดขึ้นในแถบภูมิภาคเอเชีย หลายคนคงจะนึกเชื่อมโยงไปถึงฉากรักระหว่างรบของโกโบริและอังศุมาลิน และฉากทหารสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดสถานีรถไฟบางกอกน้อยในกรุงเทพฯ บ้างนึกไปถึงเหตุการณ์ยกพลขึ้นบกของทหารญี่ปุ่นและความหาญกล้าของยุวชนทหาร ณ กองบินน้อยที่ 5 ที่ประจวบคีรีขันธ์ หรือบางคนอาจนึกไปถึงทางรถไฟสายมรณะที่เมืองกาญจน์ ซึ่งใช้แรงงานเชลยศึกตัดเจาะภูเขาหินอันแข็งแกร่งจนเป็นที่มาของชื่อช่องเขาขาด

อนุสรณ์สถานมิตรภาพ ไทย-ญี่ปุ่น

แต่หลายคนอาจไม่ทราบว่า ในอำเภออันห่างไกลอย่าง อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ก็มีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับสงครามมหาเอเชียบูรพาด้วยเช่นกัน ที่สำคัญคือความเกี่ยวข้องนี้ไม่ใช่ในแง่มุมอันโหดร้ายในสงคราม แต่เป็นแง่งามแห่งความผูกพันและมิตรภาพระหว่างสองชนชาติที่ประสบชะตาร่วมกัน จนกลายความผูกพันแน่นแฟ้นอันยาวนานสืบเนื่องมาจนวันนี้
บรรยากาศภายในอนุสรณ์สถาน

“อนุสรณ์สถานมิตรภาพไทย-ญี่ปุ่น” ในอำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นสถานที่ที่บอกเล่าเรื่องราวดังกล่าวได้ดีที่สุด เพราะเป็นที่เก็บรวบรวมประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งของสงครามมหาเอเชียบูรพาที่เกิดขึ้นในแถบอำเภอขุนยวม อนุสรณ์สถานฯ แห่งนี้เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์มาตั้งแต่ปี 2539 และเมื่อเร็วๆ นี้เพิ่งปรับปรุงใหม่ทั้งสถานที่ เนื้อหา และภาพถ่ายที่อัดแน่นไปด้วยความน่าสนใจ เพื่อความเข้าใจในเนื้อหาภายในอนุสรณ์สถานโดยสรุป ขอให้เข้าไปชมวีดิทัศน์ความยาวประมาณ 10 นาที ที่สรุปเรื่องราวความเป็นมาของสงครามมหาเอเชียบูรพาที่แผ่ขยายมาสู่ประเทศไทยในวันที่ 8 ธ.ค. 2484 เมื่อกองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกตลอดแนวอ่าวไทยตั้งแต่ภาคใต้ขึ้นมาจนถึงบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงบุกมาทางอรัญประเทศ เพื่อจะรุกต่อไปถึงมลายู พม่า และอินเดีย
ป้ายผ้าไหมญี่ปุ่นเขียนด้วยลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโต้

รัฐบาลไทยต้องยินยอมให้ทหารญี่ปุ่นเดินทัพผ่านและตั้งกองกำลังในไทยเพื่อรักษาประเทศ และต้องทำกติกาสัญญาทางทหารระหว่างไทยกับญี่ปุ่น เพื่อช่วยเหลือญี่ปุ่นซึ่งจะเดินทัพเข้าพม่าและอินเดีย โดยกองทัพญี่ปุ่นได้เลือกสร้างถนนในเส้นทางเชียงใหม่-ตองอู ซึ่งจะต้องสร้างเส้นทางแยกจากบ้านแม่มาลัย เขต อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ผ่าน อ.ปาย อ.เมืองแม่ฮ่องสอน อ.ขุนยวม มุ่งหน้าออกไปบ้านต่อแพ ห้วยปลามุง และห้วยต้นนุ่น เข้าสู่พม่าบริเวณบ้านต่อเขตบนดอยน้ำพอง เพื่อบรรจบเส้นทางลอยก่อ-ตองอู โดยสร้างตามเส้นทางเดินของชาวบ้านเป็นหลักและได้จ้างแรงงานชาวบ้านจากแม่ฮ่องสอนและจังหวัดใกล้เคียงมาขุดปรับถนน ปัจจุบันเส้นทางดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงหมายเลข 108 และหมายเลข 1095 ด้วย
ภายในจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ของทหารญี่ปุ่นในสงคราม

และเส้นทางสายนี้เองก็เป็นเส้นทางถอยทัพเมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม ทหารญี่ปุ่นจำนวนนับแสนได้ทะลักเข้ามาในเขต อ.ขุนยวม มีทหารที่บาดเจ็บและล้มตายเป็นจำนวนมาก แต่ชาวขุนยวมก็พยายามให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ในฐานะเพื่อนมนุษย์ ทำให้เกิดเรื่องราวความผูกพันระหว่างคนขุนยวมและทหารญี่ปุ่น ที่ได้พึ่งพาอาศัยช่วยเหลือกันและกัน ดังที่เราจะได้เข้าไปชมอย่างละเอียดภายในอนุสรณ์สถานฯ ต่อไป

ภายในอนุสรณ์สถานฯ แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ ด้วยกัน ส่วนแรกจัดแสดงข้อมูลพื้นฐานของ อ.ขุนยวม ที่สำเนียงท้องถิ่นออกเสียงเป็น “กุ๋นยม” กุ๋น หมายถึงภูเขาที่เป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำ ส่วน ยม หมายถึงไม้ยมซึ่งขึ้นอยู่ตามภูเขาแถบนี้มาก และขุนยวมยังเป็นอำเภอที่มีความหลากหลายของชาติพันธุ์ โดยมีชาวไทใหญ่เป็นประชากรจำนวนมากที่สุด นอกนั้นก็ยังมีชาวปกาเกอะญอ ไทยวน ม้ง และ ลัวะ
กระติกน้ำสลักชื่อ “อูเมดะซัง”

เมื่อเดินขึ้นมายังชั้น 2 ส่วนนี้จัดแสดงเรื่องราวของขุนยวมในสมัยสงคราม ที่ชาวขุนยวมมีโอกาสต้อนรับกองทัพทหารญี่ปุ่นจำนวนนับหมื่นอย่างไม่คาดคิด จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งบรรยากาศและสภาพสังคมอย่างฉับพลัน ทหารเหล่านั้นต้องพึ่งพาชาวขุนยวมในเรื่องเสบียงอาหารและสินค้าต่างๆ คนขุนยวมทุกเพศทุกวัยจึงค้าขายกับทหารญี่ปุ่นและรับจ้างทำงานต่างๆ เป็นจุดเริ่มต้นของตำนานแห่งมิตรภาพและน้ำใจระหว่างกัน

ข้อมูลจัดแสดงยังบอกถึงจำนวนทหารญี่ปุ่นที่เข้ามารบในพม่า และถอนทัพจากพม่าเข้ามาไทย อนุมานว่ามีประมาณ 270,000 นาย และกองทหารญี่ปุ่นที่เข้ามาตั้งทัพในขุนยวมนั้น ได้กระจายกันอยู่ตามที่ต่างๆ โดยมีวัดม่วยต่อและวัดหัวเวียง (ปัจจุบันรวมเป็นวัดเดียวกัน) เป็นที่ตั้งของกองบัญชาการกองพลที่ 56 และโรงพยาบาลใหญ่ของค่าย ส่วนวัดขุ่ม เป็นกองบัญชาการอีกแห่งหนึ่งและเป็นที่ตั้งกองทหารสื่อสาร และวัดต่อแพ เป็นที่ตั้งของกองกำลังทหารญี่ปุ่นที่เคลื่อนพลมาจากพม่า วิหารเล็กหน้าเจดีย์ของวัดต่อแพเป็นสถานที่พิมพ์ธนบัตร
มิตรภาพของชาวขุนยวมและทหารญี่ปุ่นคือหัวใจหลักของอนุสรณ์สถาน

ตรงส่วนนี้มีของชิ้นสำคัญที่ไม่ควรพลาดชมคือ ป้ายผ้าไหมญี่ปุ่น ขนาดกว้าง 50 ซ.ม. ยาว 2 ม. บนผืนผ้าเขียนเป็นภาษาญี่ปุ่นด้วยลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโต้ กล่าวถึงเหตุผลที่ญี่ปุ่นต้องเข้าร่วมสงคราม และทรงพระราชทานให้แก่กองทัพญี่ปุ่น กล่าวกันว่ามีเพียง 5 ผืนเท่านั้น นอกจากนั้นยังมีแท่นบูชา และดาบซามูไรจัดแสดงไว้ด้วยกัน

ถัดมาเป็นส่วนจัดแสดงเครื่องแต่งกาย ทั้งเสื้อผ้าและหมวกเหล็ก และเครื่องใช้ส่วนตัวของทหารญี่ปุ่นที่เก็บรวบรวมไว้ได้ มีทั้งเครื่องรางแบบญี่ปุ่นที่ใช้ห้อยติดตัว กล้องถ่ายภาพ อุปกรณ์เครื่องเขียน แปรงสีฟันยี่ห้อชิเซโด้ เป็นต้น อีกทั้งยังมีอาวุธ ทั้งปืนสั้น ปืนยาว และหีบบรรจุยุทธภัณฑ์และลังกระสุนจำนวนมาก
อาวุธที่ใช้ในสงคราม

ข้าวของเหล่านี้เป็นของสะสมของ พ.ต.ท.เชิดชาย ชมธวัช ที่เคยมาปฏิบัติหน้าที่เป็นรองผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอขุนยวม และเป็นของที่ชาวขุนยวมร่วมบริจาคให้อนุสรณ์สถานฯ อีกทั้งทหารผ่านศึกญี่ปุ่นที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในขุนยวมเมื่อได้เดินทางกลับมาเยี่ยมก็ได้มอบสิ่งของอีกหลายชิ้นให้ทางอนุสรณ์สถานฯ ด้วยเช่นกัน

ดูข้าวของเครื่องใช้กันไปแล้ว มาดูเรื่องของมิตรภาพที่เป็นหัวใจหลักของอนุสรณ์สถานแห่งนี้กันบ้าง กล่าวกันว่า พลโท อาเคโตะ นากามูระ แม่ทัพภาคที่ 18 ไม่ต้องการให้คนไทยเกลียดชังทหารญี่ปุ่น จึงมีนโยบายห้ามทหารญี่ปุ่นมีเรื่องกับคนไทย กำชับให้มีการปรับตัวและช่วยเหลือชาวบ้านทำงานต่างๆ ทั้งตำข้าว เกี่ยวข้าว หาบฟืน เมื่อไม่มีเรื่องขัดแย้งบาดหมางกัน ช่วงที่ทหารญี่ปุ่นถอนทัพกลับจากพม่า ทหารจำนวนมากบาดเจ็บล้มตาย เสบียงอาหารและยาขาดแคลน ชาวขุนยวมจึงเต็มใจช่วยเหลือตามกำลัง แลกกับเงินทองและข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวเล็กๆ น้อยๆ
หมวกเหล็กของทหารญี่ปุ่น

นอกจากนั้น รักระหว่างรบในแบบฉบับโกโบริกับอังศุมาลินแห่งขุนยวมก็เกิดขึ้นที่นี่เช่นกัน ดังกรณีของแม่อุ๊ยแก้ว จันทสีมา สาวชาวขุนยวม กับสิบเอกฟูคูดะ ทหารญี่ปุ่นที่ติดต่อค้าขายกัน จนกลายเป็นความรักและได้แต่งงานกันในที่สุด กระทั่งสงครามสงบทหารญี่ปุ่นผู้นี้ก็ยังอยู่กินกับแม่อุ๊ยแก้วจนถูกส่งกลับประเทศ แต่เรื่องราวความรักระหว่างรบของคนทั้งคู่ก็ยังอยู่ในความทรงจำของคนขุนยวมเรื่อยมา แม่อุ๊ยแก้วได้เคยกล่าวไว้ว่า “สงครามโลกครั้งที่ 2 แม้ว่าดูเสมือนโหดร้าย แต่สำหรับคนไทยอย่างพวกฉัน สงครามคราวนี้เป็นความรัก ความผูกพัน ระหว่างทหารญี่ปุ่นกับคนไทย ที่ฉันไม่เคยลืมเลือน”
อาหารพื้นบ้านของชาวไทใหญ่ จัดแสดงอยู่ในชั้นล่าง

รู้เรื่องราวเกี่ยวกับสงครามกันไปแล้ว มาดูเรื่องราวประเพณี วัฒนธรรมและความเป็นอยู่ของชาวไทใหญ่ และสถานที่สำคัญต่างๆ ในอำเภอขุนยวมที่จัดแสดงอยู่ในส่วนที่ 3 ของอนุสรณ์สถานฯ ชาวไทใหญ่ยังคงยึดมั่นในพระพุทธศาสนา และยังคงรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนไว้ได้เป็นอย่างดี เห็นได้จากงานประเพณี หรือ “ปอย” ที่ยังจัดขึ้นเป็นประจำในเดือนต่างๆ นอกจากนั้นก็ยังมีความรู้เรื่องอาหารและที่อยู่อาศัยของชาวไทใหญ่จัดแสดงไว้ให้ชมกันอีกด้วย
ภาพจำลองตลาดสดขุนยวม แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวบ้าน

หากใครมีโอกาสผ่านมาที่อำเภอขุนยวมก็ไม่อยากให้พลาดชม “อนุสรณ์สถานมิตรภาพ ไทย-ญี่ปุ่น” ที่อาจทำให้เห็นแง่มุมดีๆ ในสงครามอันโหดร้าย มิตรภาพนั้นงอกงามได้ทุกแห่งไม่เว้นแม้แต่ในสมรภูมิรบ ดังเช่นในบทกลอนที่แต่งโดยโทโมโยชิ อิโนอุเอะ อดีตทหารผ่านศึกชาวญี่ปุ่นอายุกว่า 90 ปี ที่เคยมารบในพื้นที่ขุนยวม กลอนบทหนึ่งแปลออกมาได้อย่างจับใจว่า

“…40 ปีก่อน เสี้ยวหนึ่งของชีวิต หากแจ่มกระจ่างในความทรงจำ
ความกรุณาที่มีให้นั้น เกินขอบเขตกั้นของภาษา
ใครเล่าจะลืมความเมตตา จวบจนสิ้นชีวาวาย…”
“อนุสรณ์สถานมิตรภาพ ไทย-ญี่ปุ่น” ตั้งอยู่ตรงข้ามวัดม่วยต่อ ต.ขุนยวม อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่ 08.00-17.00 น. ปิดพักเที่ยง 12.00-13.00 น. ค่าเข้าชม คนไทย (ผู้ใหญ่) 20 บาท (เด็ก) 10 บาท ชาวต่างชาติ (ผู้ใหญ่) 50 บาท (เด็ก) 20 บาท สอบถามโทร. 0 5369 1466

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก : http://www.tinyzone.tv/Travel.aspx